
แนวทางการพิจารณา "ภัยพิบัติ" ของกระทรวงการคลัง มีดังนี้
1. ภัยที่เกิดขึ้นต้องมีลักษณะเป็นภัยพิบัติ คือ
1) มีการกระทำหรือเหตุต่างๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ หรือมีบุคคล หรือสัตว์ ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งทำให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของคนในสังคมหรือชุมชน
2) ต้องเป็นสาธารณภัย กล่าวคือ ภัยที่เกิดแก่คนหมู่มาก มิใช่เกิดแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยชุมชนที่ประสบภัยพิบัติไม่สามารถป้องกันหรือจัดการแก้ไขกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง
2. เป็นภัยที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน
3. จำเป็นต้องรีบแก้ไขโดยฉับพลัน
4. อยู่ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับงบประมาณรายจ่าย
รวมถึง ตามระเบียบฯ ข้อ 5 ได้กำหนดนิยาม "ภัยพิบัติ" หมายความว่า สาธารณภัย อันได้แก่ อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ... ตลอดจนภัยอื่นๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีบุคคลหรือสัตว์ทำให้เกิดขึ้น ซึงก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน โดยไม่ได้กำหนดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องมีจำนวนมากน้อยเพียงใด
สรุปว่า วาตภัย ถือเป็นสาธารณภัย สามารถให้ความช่วยเหลือได้โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด สำหรับอัคคีภัย จะเข้าข่ายเป็นภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามระเบียบฯ ก็ต่อเมื่อเกิดแก่คนหมู่มากหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการในปัจจัยพื้นฐาน จนเกินขีดความสามารถที่ชุมชนจะรับมือหรือจัดการเองได้ และเกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใดเช่นเดียวกัน
Reference : สส 0021/ว 11355 ลว. 9 กันยายน 2559